แม้ปัจจุบันภาคธุรกิจจะให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามกรอบ UN SDG โดยพบว่า 72% ของบริษัทหรือองค์กรมีการวางเป้าหมายเพื่อบรรลุ SDG ในข้อใดข้อหนึ่งจากทั้ง 17 ข้อ เช่น การศึกษา สุขภาพ การสร้างงาน สภาพอากาศ หรือการดูแลทรัพยากรน้ำ เป็นต้น
แต่กลับมีเพียง 25% ที่สามารถวางกลยุทธ์ หรือมีการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่สอดคล้องกับเป้าหมาย SDG ที่วางไว้ได้ โดยมีแค่ 14% ที่สามารถกำหนดทิศทางขับเคลื่อนสู่เป้าหมายได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
และสุดท้ายแล้วมีแค่ 1% เท่านั้น ที่สามารถวัดผลเชิงปริมาณ หรือสามารถรายงานความคืบหน้าในการขับเคลื่อนหรือระบุผลลัพธ์ตามแนวทางต่างๆ ที่วางไว้ได้ (UNITED NATIONS DEVELOPMENT PROGRAMME : PWC SDG CHALLENGE 2019 )
ทั้งนี้ ยังพบจุดอ่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันคือ ความต้องการให้เกิดการเติบโตแบบไม่มีขีดจำกัด (Unlimited Growth) ขณะที่โลกมีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด รวมถึงผลประโยชน์ที่เกิดจากการมุ่งสร้างการเติบโตเหล่านั้น ไม่ได้ตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ของโลก แต่มักจะตกอยู่ที่กลุ่มคนเล็กๆ เพียงบางกลุ่มเท่านั้น
คุณสกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ เลขาธิการสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย และ B Corp Thailand Movement Leader กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนความผิดพลาดในการขับเคลื่อนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจที่ผ่านมา ที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่โฟกัสความแข็งแรงทางการเงินเป็นสำคัญ จึงต้องกลับไปแก้ที่วัตถุประสงค์หรือ Purpose ในการตั้งธุรกิจ และเปลี่ยนสมการจาก Financial Purpose มาเป็นการสร้าง Social Value Creation หรือ Non-Financial Purpose และต้องสร้าง Mindset เพื่อให้แนวคิดการขับเคลื่อนธุรกิจที่มองผลกระทบต่อสังคมเหล่านี้ขยายสู่ Mainstream ที่ไม่ใช่แนวคิดของธุรกิจเพียงส่วนน้อยในระบบ ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้จริง
ขณะเดียวกัน ต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการขับเคลื่อนรวมทั้งรูปแบบการวัดผลทางธุรกิจ โดยใช้มิติด้าน Non-Financial Purpose มาประเมินศักยภาพของธุรกิจหรือโครงการต่างๆ ที่พัฒนาขึ้น และต้องมองแบบ Long Term พร้อมดูผลกระทบอย่างรอบด้านต่อผู้มีส่วนกี่ยวข้องทั้งหมด
รวมทั้งการรายงานผลอย่างรอบด้านมากกว่าแค่วัตถุประสงค์ที่ตั้งต้นไว้ เพื่อทราบ Impact ที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงบวกหรือเชิงลบ โดยคำนึงถึง Impact Transparency เพื่อป้องกันการเกิด Impact Washing หรือการเลือกรายงานแค่สิ่งที่องค์กรหรือธุรกิจอยากทราบ หรือรายงานแต่ผลเชิงบวก ทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพรวม หรือนำไปสู่การประเมินผลที่ผิดพลาด รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับการนำผลที่ได้ไปต่อยอดมากกว่าแค่การจัดทำรายงานผลกระทบ แต่ควรนำไปใช้ในการวางกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีขึ้น หรือใช้เพื่อ Dicision Making ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยแก้ปัญหา หรือ Painpoint ในธุรกิจหรือโครงการ โดยเน้นขยายผลร่วมกับ Stakeholder เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนที่มากกว่าการทำเพียงคนเดียว
“ยังมีภาคธุรกิจหลายรายในปัจจุบันมีความเขัาใจผิดเกี่ยวกับการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน บางองค์กรทำแค่เช็คลิสต์จากสิ่งที่ตัวเองวางเป้าหมายไว้ แล้วมองว่าเป็นการทำธุรกิจแบบยั่งยืนแล้ว โดยไม่เคยวัดผลกระทบที่เกิดจากสิ่งที่ตัวเองทำอย่างรอบด้านว่าสร้างผลบวกหรือผลลบต่อใครอย่างไรบ้าง ซึ่งการวัดผลถือเป็นปัจจัยชี้วัดที่สำคัญที่สุด และต้องทำการวัดผลร่วมกับ Multi-stakeholder ที่เกี่ยวข้องทุกมิติ เพราะหากไม่สามารถวัดผลได้ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาได้จริง เช่น โครงการฉีดวัคซีน จะไม่สามารถดูแค่จำนวนคนที่เราฉีดวัคซีนให้ แต่ต้องขยายผลต่อว่าหลังฉีดแล้วมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนอย่างไร อาการเจ็บป่วยลดลงหรือไม่ หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวอย่างไร เพื่อนำมาประเมินต่อว่าเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ได้แท้จริง หรือควรขับเคลื่อนต่อหรือไม่ และจะต้องขับเคลื่อนต่ออย่างไรเพื่อให้เป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ให้ทุกคนได้อย่างแท้จริง”
Beyond ESG to Impact
การขับเคลื่อน Impact ต้องมองแบบ Outside In ต้องใช้มุมจาก Stakeholder ทั้งหมดมาเป็นตัวตั้ง การขับเคลื่อนไปตามกรอบ ESG หรือการตั้งเป้าหมายตาม SDG เป็นเพียงวิธีการที่จะมุ่งไปสู่การสร้างอิมแพ็ค เพื่อนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ดังนั้น ESG หรือ SDG Report ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าธุรกิจ หรือโครงการนั้นๆ นำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคม หรือสิ่งแวดล้อม หากยังไม่ได้ทำการวัด Impact หรือผลกระทบที่รอบด้านทั้งเชิงบวกและลบ
โดยเครื่องมือเบื้องต้นที่ภาคธุรกิจจะสามารถนำไปใช้ในการวัดว่าธุรกิจหรือโครงการต่างๆ ที่ตัวเองทำ ว่าตอบโจทย์เรื่องของการสร้างคุณค่าให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนจริงหรือไม่ เช่น
การได้รับรองมาตรฐาน B Corps Certified ที่จะมอบให้กับแบรนด์หรือองค์กรที่ได้รับรองว่าสามารถสร้างผลลัพธ์หรืออิมแพ็คที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การประเมิน BIA (Benefit Impact Assesment) ที่สามารถส่งมอบคุณค่าได้ 5 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นธรรมาภิบาล (Governance) พนักงาน (Workers) ชุมชน (Community) สิ่งแวดล้อม (Environment) และลูกค้า (Customers) โดยธุรกิจสามารถนำแนวคิดหรือการชี้วัดตามมาตรฐาน B corps มาใช้ในการวางกลยุทธ์หรือแนวทางในการปฏิบัติงานต่างๆ (Operation) เพื่อให้ได้โมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่สามารถสร้างคุณค่าร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทั้ง Ecosystem ซึ่งในปัจจุบันมีหลากหลายแบรนด์ระดับโลกที่ได้รับรอง B Corps เช่น Unilever, PATAGONIA, SC JOHMSON และ THE BODYSHOP เป็นต้น
รวมทั้งอีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับการวัดผลกระทบในการขับเคลื่อนโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ของภาคธุรกิจอย่าง SROI (Social Return on Investment) ที่สามารถวัดผลกระทบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างรอบด้าน และทราบผลลัพธ์ในการขับเคลื่อนทั้งคุณค่าในการขับเคลื่อนโครงการตลอด Customer Journey ของลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมทั้งทราบ ‘จุดบอด’ เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อวางวิธีคิดหรือแนวทางการขับเคลื่อนไปได้ไกลมากกว่าแค่วัตถุประสงค์ที่วางไว้ และนำมาประเมินความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการเทียบกับการลงทุนที่สามารถจับต้องได้ และนำไปต่อยอด วางแผน หรือขยายผลต่อได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยหัวใจสำคัญในการประเมินผลด้วย SROI ต้องเข้าใจผู้มีส่วนได้เสียทั้งระบบนิเวศ รวมทั้งเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทั้งระบบ เพื่อนำมากำหนดขอบเขตและประเมินเป็นคุณค่าของตัวชี้วัด ก่อนนำไปทดสอบ และดำเนินการพร้อมเปิดเผยข้อมูลที่ได้อย่างโปร่งใส และมีความน่าเชื่อถือ
“ปัจจุบันธุรกิจให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างมาก ขณะที่พัฒนาการที่เกิดขึ้นจริงกลับสวนทางกัน สะท้อนว่าโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่มีการขับเคลื่อนไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกได้จริง และนำมาสู่ปัญหา Green Washing หรือ Impact Washing ที่มีเป้าหมายเพียงแค่การรายงานผลให้ทราบ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างมาตรฐานในการวัดผลกระทบ เพื่อมั่นใจได้ว่าการขับเคลื่อน ESG หรือ SDG ต่างๆ สร้าง Positive Impact ได้จริง พร้อมทั้งทราบผลกระทบเชิงลบ เพื่อเข้าใจปัญหาและแก้ไขได้อย่างตรงจุด รวมถึงการนำไปต่อยอดเพื่อให้เกิดเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีกรอบในการดำเนินการผ่านการวางกลยุทธ์ได้อย่างถูกต้อง (Strategy) การมีระบบการบริหารจัดการเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย (Management Approach) รวมทั้งสร้างความโปร่งใส (Transparency) และมีธรรมาภิบาล (Governance)”
#ESG #SDGs #SVTH #PositiveImpact #Measurement #Tools #SustainableGrowth #SocialImpact #GreenWashing #Transparency #Development #Strategy #Growth #Sustainability #ความยั่งยืน #ผลกระทบ #ผลลัพธ์ #คุณค่า #ยั่งยืน #SDThailand
พร้อมติดตามเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับความยั่งยืนเพิ่มเติม ได้ที่
Website : https://sdthailand.com/
Facebook: https://www.facebook.com/sdthailand
Twitter : https://twitter.com/sdthailand_TH
0 Comments