
เมื่อถึงยุคการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นอยู่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เกิดความตื่นตัวขององค์กรต่างๆในการที่จะขับเคลื่อนให้องค์กรของตนรุ่งเรืองต่อไปในระยะยาวพร้อมๆกับทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมยั่งยืนไปด้วย ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) ถูกระบุว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมและเร่งมือแก้ไข
องค์กรธุรกิจถูกกดดันเป็นพิเศษ เพราะบนกระบวนการทำธุรกิจบนห่วงโซ่คุณค่าจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การนำวัตถุดิบเข้ามา กลไกการเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นสินค้าและบริการ การจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าและบริการ เป็นต้น ทุกกิจกรรมบนกระบวนการดังกล่าวล้วนมีส่วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการใทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน น้ำ รวมทั้งก่อให้เกิดขยะ ของเสียและมลพิษ เป็นต้น ซึ่งเมื่อมองในมิติของคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก ผลกระทบดังกล่าวสามารถหาวิธีการคำนวณออกมาเป็นค่าของก๊าซเรือนกระจกได้ว่าองค์กรนั้นบนกระบวนการของทำธุรกิจปล่อยคาร์บอน (Carbon Emissions) ไปมากน้อยเพียงใด
เมื่อเรื่องการลดโลกร้อนกลายเป็นปัญหาร่วมกัน องค์กรต่างๆจึงเริ่มถูกกดดัน จะต้องเปิดเผยข้อมูลให้เห็นว่าองค์กรของตนเองมีสถานะเริ่มต้น (Baseline) ด้าน Carbon Emissions อยู่ในขนาดเท่าใด และมาจากกิจกรรมใด และมีแผนที่จะลด Carbon Emissions เหล่านั้นอย่างไรบ้าง รวมทั้งมีการประกาศเป้าหมายว่าปีใดที่องค์กรเหล่านั้นจะทำให้เกิด ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือปีที่สถานะการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การกดดันให้องค์กรธุรกิจต้องทำเรื่องนี้มาจากหลายทาง เช่นลูกค้า นักลงทุน สถาบันการเงิน NGOs ภาครัฐทั้งในและต่างประเทศ องค์กรธุรกิจที่เพิกเฉย ไม่สนใจในเรื่องดังกล่าว ไม่มีข้อมูลเปิดเผยในเรื่องคาร์บอนนี้ อาจพบกับมาตรการกีดกัน การต่อต้าน การไม่สนับสนุนเงินทุน การส่งออก การเสียชื่อเสียง เป็นต้น จนอาจกระทบต่อยอดขาย กำไร มูลค่ากิจการ ได้ในที่สุด เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทย เรื่องการปฏิบัติและการเปิดเผยข้อมูลด้าน Carbon Emissions ก็ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ โดยที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กว่า800 แห่ง ได้ถูกบ่มเพาะจากองค์กรสำคัญในตลาดทุนให้ดำเนินการเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ผ่านการสนับสนุนโดยสร้างมาตรฐานตัวชี้วัด( Standard Setting ) การส่งเสริมให้ปฏิบัติ (Implementing) การเปิดเผยข้อมูล (Disclosure Reporting) การประเมินผลและให้รางวัล(Assessing and Awarding) ซึ่งในกระบวนการพัฒนาบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวต้องใช้ทั้งมาตรการส่งเสริม ทดลอง สร้างต้นแบบ จัดให้มีประชาพิจารณ์ และมาตรการบังคับซึ่งใช้เป็นวิธีสุดท้ายเมื่อดำเนินมาตรการอื่นมา จนสถานการณ์สุกงอมเพียงพอ
ความก้าวหน้าของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นผู้นำที่มีความโดดเด่นในการทำเรื่อง Carbon Emissions ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้เห็นและสัมภาษณ์ พบว่ามีกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจทั้งทั้งองค์กร มีการวัด Baseline มีการกำหนดเป้าหมายและแผนงานประจำปี เป็นต้น อาจสรุปภาพรวมการจัดการคาร์บอนในองค์กรในบริษัทชั้นนำเหล่านี้ออกได้เป็น 4 ลักษณะ ดังนี้
1. การลดคาร์บอนจากระบบการดำเนินงาน (Carbon Reduction from Operations)
โดยเริ่มต้นจากการคำนวณBaseline ว่าบนระบบการดำเนินการภายใน และบนValue Chain เช่น Suppliers ที่เป็นคู่ค้า มีการปล่อยคาร์บอนเท้าใดบ้าง ทั้งในขอบเขต 1,2,3 ตามที่กำหนด และกำหนดเป้าหมาย แผนและกิจกรรมเพื่อลดคาร์บอนให้ได้ตามเป้าหมาย
2. การเพิ่มมูลค่าธุรกิจจากผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Business)
พบว่าหลายบริษัทจดทะเบียนเริ่มคิดค้นผลิตภัณฑ์บนCore Business เดิมโดยเพิ่มให้มี Low Carbon Products เพิ่มขึ้น เช่นผู้ผลิตพลาสติกแบบเดิม อาจคิดค้นวิธีการนำวัตถุดิบพลาสติกRecycle หรือ พลาสติกLow Carbon ผสมเข้าไปในการสร้างผลิตภัณฑ์ ซึ่งนอกจากจะทำให้ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดลดคาร์บอนลงได้มากขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจได้ด้วย
3. การชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting)
แม่ว่าองค์กรธุรกิจจะพยายามดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการในข้อ1 ข้อ2 ข้างต้นอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่หลายกรณีก็ไม่สามารถลดลงจนเป็นศูนย์ได้ องค์กรธุรกิจหลายแห่งเริ่มดำเนินกิจกรรม หรือวิธีการที่จะหา Carbon Credit มาเพื่อชดเชยคาร์บอนที่ยังคงเหลือดังกล่าว เช่นการปลูกป่า หรือการไปซื้อ Carbon Credit จากตลาดที่มีการรับรองและซื้อขายที่น่าเชื่อถือ
4. การกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture)
ปัจจุบันเริ่มมีเทคโนโลยีในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนที่มาจากการดำเนินงานถูกพัฒนามากขึ้น
องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่กระบวนการดำเนินงานปล่อยคาร์บอนในปริมาณมาก หันมาทำการศึกษาและลงทุนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะเป็นวิธีหนึ่งในการลดคาร์บอนลงในอนาคต แต่วิธีนี้อาจยังไม่เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็ก
อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทจดทะเบียนซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจชั้นนำขนาดใหญ่ของประเทศ มีจำนวนยังไม่ถึง1,000 บริษัท เมื่อเทียบกับธุรกิจทั่วไปโดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีอีกหลายแสนบริษัท หากบริษัทเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้จัดการคาร์บอนได้ดีขึ้น จะมีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้อย่างมหาศาล และถือเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยครั้งสำคัญในสภาวะที่ทั้งโลกเรียกร้องและกดดันให้ธุรกิจต้องแสดง Carbon Footprint ในการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการ
26 กันยายน 2567
0 Comments