ตั้งแต่ตอนที่ 4 นี้ ผู้เขียนจะพยายามสืบค้นและสรุปขั้นตอนและวิธีการบริหารจัดการคาร์บอนในองค์กร ซึ่งทุกองค์กรจะมี Carbon Footprint ตั้งต้นอยู่และหาทางทำให้ลดลง โดยกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์และแผนดำเนินงาน และพยายามลดให้เต็มที่ยังไม่พอ ต้องนำไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality หรือ Net Zero ในระยะเวลาที่เป็นเป้าหมายร่วมกันอีกด้วย

          บทความเรื่อง “The 5 key steps to create the baseline for your climate strategy” โดย Zazala Quist, Ecochain ได้แนะนำว่าเนื่องจากธุรกิจแต่ละแห่งอาจมาจากอุตสาหกรรมต่างๆกัน ซึ่งอาจจะมีความเหมือนหรือความต่างในการเกิดและการวัดคาร์บอน จึงควรกลับไปดู Life Cycle Assessment(LCA) ที่ระบุมาตรฐานการวัดผลด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดจุดสำคัญ ”Impact Hotspots” ที่ควรมุ่งเน้น

          บทความนี้ยังได้แนะนำขั้นตอนการพัฒนาความเป็นกลางทางคาร์บอนให้องค์กร เป็นลำดับดังนี้
1. การวัดระดับการปล่อยคาร์บอน (Measure emissions)
2. การวิเคราะห์ผลกระทบ (Analyse your impact)
3. การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด (Set KPIs and targets)
4. การดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอน (Carbon reduction)
5. การเดินทางและบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral)

          แต่ละขั้นตอน อธิบายรายละเอียดได้ดีงนี้

          1. การวัดระดับการปล่อยคาร์บอน (Measure emissions)
บนกระบวนการทำธุรกิจทั้งภายในและบนห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ บริษัทจะต้องเข้าใจและเก็บข้อมูลจากทุกกระบวนการ ทั้งทางตรงและทางอ้อม และแยกคาร์บอนนั้นตามมาตรฐานที่เเป็นที่ยอมรับ ได้แก่ Scope 1,2 และ3 โดยที่
-Scope 1 หมายถึงคาร์บอน หรือ ก๊าซเรือนกระจก (GHG) ที่มาจากการปล่อยโดยตรง (Direct Emissions) จากการดำเนินงานของบริษัท เช่น การใช้ยานพาหนะที่ใช้น้ำมัน ของบริษัท
-Scope 2 หมายถึง GHG ที่มาจากการปล่อยโดยอ้อม (Indirect Emissions) เช่น การใช้ไฟฟ้าของบริษัทในการส่องสว่าง หรือเพื่อทำความเย็น โดยพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวมาจากการใช้น้ำมัน เป็นต้น
-Scope 3 หมายถึงการปล่อย GHG ที่มาจากแหล่งทางอ้อมอื่นๆ(Other Indirect Emissions) บนห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท ซึ่งรวมมาตั้งแต่การปล่อยคาร์บอนของคู่ค้า (Suppliers) ที่วัตถุดิบอาจถูกปล่อยGHG แบบทางอ้อมมา จนถึงลูกค้า(Customers) ที่อาจใช้สินค้าและบริการของบริษัทแล้วมีผลต่อการปล่อย GHG ในทางอ้อมด้วย
การวัด Carbon Emission Baseline และการวัดเนื่องนี้ในทุกปี กลายเป็นเรื่องสำคัญที่บริษัทและผู้เกี่ยวข้องต่างๆต้องการรับทราบสถานะ เพื่อดูว่าบริษัทดูแลเรื่องนี้ได้ดีเพียงใด

          2. การวิเคราะห์ผลกระทบ (Analyse your impact)

เมื่อมีการวัดระดับการปล่อยGHG ตาม Scope 1,2,3 แล้ว และทราบว่ามาจากกระบวนการและกิจกรรมใดบ้าง ก็จะถูกนำมาวิเคราะห์ตามLCA Measures ที่จะดูตั้งแต่ก่อนการผลิต การผลิต การเกิดขยะจากการผลิต และการบริโภคของลูกค้าในผลิตภัณฑ์นั้น จะมีการวิเคราะห์ว่าการปล่อย GHG มาจากตรงกระบวนการใดมากที่สุด เช่นมาจากการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การบรรจุ เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า เป็นการหา “Impact Hotspots “ เพื่อให้เราทราบและนำไปจัดลำดับความสำคัญในการจัดการต่อไป การกำหนดกลยุทธ์ด้านภูมิอากาศ (Climate Strategy) และวางแผนดำเนินงานให้ได้ผลจึงต้องทราบข้อมูล Impact Hotspots เหล่านี้

          3. การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด (Set KPIs and targets)

เมื่อเราทราบถึงค่าGHG ตาม Impact Hotspots แล้วก็จะต้องเรียนรู้ความเป็นไปได้ว่า จะมีวิธีการที่จะลดการปล่อยคาร์บอนเหล่านั้นอย่างไรบ้าง ทั้งในลักษณะแบบง่ายเช่น ลด ละ เลิก หรือต้องใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีมาช่วย จึงพอจะประมาณการว่าควรจะลดคาร์บอนเหล่านั้นได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถมากำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดจากกิจกรรมต่างๆที่จะเกิดขึ้น เป้าหมายเหล่านี้มักแสดงเป็น Science-based targets คือวัดในเชิงปริมาณได้ และสามารถเชื่อมโยงมาเป็นหน่วย ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ (สามารถดูได้จาก Science Based Targets Initiative (SBTi))

          4. การดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอน (Carbon Reduction)

ในขั้นนี้เป็นการลงไปในแผนว่าจะมีการดำเนินการ (Actions) อะไรบ้าง ในช่วงเวลาต่างๆ ในการลดการปล่อยคาร์บอนในช่วงเวลาต่างๆ และแต่ละกิจกรรมมีเป้าหมาย Science-based targets ที่ต้องการให้บรรลุเท่าใด รวมทั้งจะมีระบบและวิธีการในการติดตามความคืบหน้า การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจต่อไปอย่างไร

           5. การเดินทางและบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

ในแต่ละปี บริษัทควรต้องนำข้อมูลผลลัพธ์และเปรียบเทียบกับเป้าหมายและKPIs มาวิเคราะห์เพื่อดูความก้าวหน้าว่าเป้าหมายใดบรรลุแล้ว หนือยังไม่บรรลุ จะได้เร่งรัดหรือหากลยุทธ์ วิธีการใหม่ๆที่เหมาะสมหรือได้ผลกว่า หรือในกรณีที่ทำไปเต็มที่ในการลดแล้ว อาจต้องใช้วิธีอื่นเพิ่มเติมเช่น การชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) เป็นต้น

2 ตุลาคม 2567

อ้างอิง : Zazala Quist, The 5 Key Steps to Crate the Baseline for Your Climate Strategy, blog.nexioprojects .com

Categories: Article

0 Comments

ใส่ความเห็น

Avatar placeholder

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *