
ในตอนที่2 นี้จะอธิบายให้เห็นถึง ความหมายของการจัดการคาร์บอน ขั้นตอนในการจัดการคาร์บอนในองค์กร และประโยชน์ต่อองค์กรในการจัดการคาร์บอน
1. ความหมายของการจัดการคาร์บอน
การจัดการคาร์บอนในองค์กร หมายถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจ การส่งเสริมกิจกรรมการลดคาร์บอน การสร้างผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ การชดเชยและกักเก็บคาร์บอนและการวัดค่าคาร์บอน จากระบบการดำเนินงานภายในและบนห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าและบริการขององค์กรธุรกิจนั้นว่าก่อให้เกิด คาร์บอน หรือ ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) เท่าใด ตลอดจนการกำหนดเป้าหมาย แผนงานและโครงการต่างๆทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ต่อไป
2. ขั้นตอนของการจัดการคาร์บอนในองค์กร
สรุปได้ดังนี้
ขั้นตอนที่1 การวัดค่า Carbon Baseline ขององค์กร
บริษัทอาจจะต้องสำรวจว่ากิจกรรมทางธุรกิจทั่วทั้งองค์กร จากระบบงานต่างๆบนห่วงโซ่ธุรกิจมีผลกระทบคาร์บอนจากกิจกรรมใดบ้าง และในขนาดเท่าใด เช่นอาจแสดงในหน่วยของตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และรวมแล้วทั้งองค์กรปล่อยคาร์บอนออกไปทั้งหมดเท่าใด ซึ่งจะทำให้เห็นขนาดโดยรวมของCarbon emission ที่องค์กรปล่อยไป ณ ช่วงเวลาหนึ่ง และทราบถึงโครงสร้าง สัดส่วนของการปล่อยคาร์บอนว่ามาจากกิจกรรมของระบบงานใด มากน้อยเพียงใด ปริมาณคาร์บอนดังกล่าวจะกลายเป็น Baseline เพื่อนำไปวางแผนและดำเนินการหาทางลดต่อไป
ขั้นตอนที่2 การเรียนรู้วิธีการพื้นฐานในการจัดการคาร์บอน
ซึ่งมี 4 วิธีการ ได้แก่ 1)หลีกเลี่ยง (Avoid) 2)ลด (Reduce) 3)ทดแทน (Replace) 4) ชดเชย(offset)
โดยที่
การหลีกเลี่ยง(Avoidance) หมายถึง การหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งหากถูกออกแบบมาตั้งแต่ต้นอย่างประณีตและถูกต้อง จะสามรถหลีกเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนได้ตั้งแต่ต้นทั้งกระบวนการได้ทันที แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะในกิจกรรมย่อยๆอาจส่งผลกระทบทางตรง ทางอ้อมให้เกิดการปล่อยคาร์บอนได้ ตัวอย่างของการใช้เทคนิคการหลีกเลี่ยง เช่น การจัดประชุมแบบออนไลน์ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทาง การเปลี่ยนยานพาหนะในองค์กรเป็นรถEV หรือ การเปลี่ยนรูปแบบการตลาดเป็นแบบออนไลน์ทั้งหมด เพื่อไม่ต้องมีหน้าร้านที่ต้องมีการใช้พลังงานและกิจกรรมที่ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอน เป็นต้น
การลด (Reduction) หมายถึงการลดการใช้คาร์บอนในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งบางกิจกรรมอาจลดได้แบบรวดเร็ว แต่หลายกิจกรรมต้องวางแผนทยอยการลดในระยะยาว เช่นกรณีการใช้พลังงานจาก Fossil Energy ยังต้องใช้อยู่ในการดำเนินงาน ในขณะที่การเกิดขึ้นของพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ทางองค์กรก็ต้องพยายามเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดเหล่านี้ เช่นพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ลม เป็นต้น
การทดแทน(Replacement) หมายถึงการสร้างสิ่งทดแทน หรือทางเลือกที่ทำให้เกิดคาร์บอนน้อยกว่า เช่นการเลือกวัตถุดิบจากคู่ค้าที่ผ่านกระบวนการ Green Procurement การคิดค้นผลิตภัณฑ์ Low Carbon ที่อาจใช้วัตถุดิบ Recycle หรือเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน เป็นต้น
การชดเชย (Offsetting) หมายถึงการดำเนินการหากิจกรรมอื่นๆนอกเหนือจากการดำเนินงานภายในที่สร้างผลกระทบทางบวกต่อสภาพภูมิอากาศ เช่นการปลูกป่า ผลสุทธิทางบวกเหล่านี้อาจเรียกว่า “Carbon Credit” ซึ่งองค์กรสามารถนำไปหักกลบเพื่อชดเชยกับการปล่อยคาร์บอนขององค์กร ในกรณีที่บริษัทไม่มีโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้าง Carbon Credit ของตนเอง หรือมี แต่ยังไม่พอที่จะหักกลบกับการปล่อยได้ ก็สามารถไปซื้อ Carbon Credit เพิ่มเติมในตลาดซื้อขาย Carbon Credit ที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับจากภายนอกเพื่อนำมาชดเชยกันต่อไป
3. ประโยชน์ต่อองค์กรในการจัดการคาร์บอน
สรุปได้ดังนี้
-ช่วยประหยัดต้นทุน กิจกรรมหลายอย่างในการลดคาร์บอน เช่น การประหยัดน้ำ ไฟ พลังงาน การลดการใช้กระดาษ เป็นต้น จะส่งผลช่วยลดค่าใช้จ่ายลงด้วย ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำกำไร
-ลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจและการกำกับดูแล ในด้านการทำธุรกิจยุคใหม่ ผู้กำกับดูแลได้กำหนดมาตรฐานการดำเนินงานและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคาร์บอน หากบริษัทมีการวางแผนและดำเนินการในเรื่องนี้ได้ดีก็จะผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด นอกจากนี้ยังสามารถสร้างความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีการใส่ใจในเรื่องนี้
-เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง เพราะบนกระบวนการทำธุรกิจมีผู้เกี่ยวข้อง(Stakeholders) จำนวนมาก เช่นพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า นักลงทุน ชุมชน สังคม การที่บริษัทจัดการคาร์บอนได้ดี จะช่วยทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำงานร่วมกับบริษัทในมิติต่างๆ ทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีเกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งในระยะยาว
-รักษาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในองค์กร การทำโครงการต่างๆในการจัดการคาร์บอน เปิดโอกาสให้เกิดนวัตกรรม ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการ เกิดการคิดค้นและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เกิดการร่วมมือของพนักงานซึ่งหากบูรณาการเข้าไปสู่การทำธุรกิจทั่วทั้งองค์กร จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัท ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน
28 กันยายน 2567
0 Comments